รักของ "ตุลสี"...กับกะเพราที่ไม่มีในร้านอาหาร



เชื่อไหมว่าเมนูอาหารยอดฮิต ที่ว่าสิ้นคิดสุดๆในบ้านเราอย่าง “ผัดกะเพรา” จะไม่สามารถหากินได้เมื่ออยู่ในประเทศอินเดีย!...

ก็เพราะว่ากะเพราในอินเดียไม่ได้ถูกจัดอยู่ในฐานะเดียวกันกับบ้านเรา จะไม่สามารถหากะเพราได้ในร้านอาหาร หรือตามตลาดสดที่ขายพืชผักได้เลย แต่จะพบได้ตามร้านขายของบูชาเทพเจ้า หรือเทวสถานเท่านั้น!


ในอินเดียรู้จักกะเพราในชื่อ “ตุลสี” (Tulasi) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่รู้จักกันอย่างสากลว่า Ocimum sactum อยู่ในวงศ์ Lamiaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับสาระแหน่ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Holy Basil ว่ากันว่าเป็นพืชที่ขึ้นบนหลุมศพของพระเยซู ชาวตะวันตกจึงมีวันที่ให้ความสำคัญของกะเพราเป็นวัน Saint Basil’s day ที่จะมีการพกก้านกะเพราเข้าโบสถ์


กะเพราเป็นพืชท้องถิ่นในอินเดีย และ อิหร่าน สามารถพบได้โดยทั่วไปในทวีปเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย เช่นมีฤทธิ์ขับลม ต้านการเกิดแผลในกระเพราะอาหาร ขับน้ำดี ลดการอักเสบ ลดไข้กระตุ้นภูมิคุ้ม ต้านแบคทีเรีย อนุมูลอิสระ และมะเร็ง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชินีสมุนไพร (Queen of Herb)


“ตุลสี” (Tulasi)เป็นชื่อของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีตำนานหลากหลายแบบ(มากเวอร์ๆ) จากหลายคัมภีร์ในศาสนาฮินดู ที่บ้างก็ว่าตุลสีเคยเป็นร่างอวตารหนึ่งของพระแม่ลักษมีชายาของพระนารายณ์ ผู้เป็นหนึ่งในเทพสูงสุดของฮินดู

บ้างก็ว่าตุลสีเป็นพรรณไม้ที่มีเพื่อระลึกถึง‘นางวรินดา’(Vrinda) ชายาของอสูรจลันธารา(Jalandhara)ที่มีความยึดมั่นในความดีสมควรแก่การบูชาและระลึกถึงฯลฯ

ด้วยเหตุที่กะเพรามีความเกี่ยวข้องกับตำนานของเทพเจ้าแบบนี้นี่เอง ในประเทศอินเดียซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูจึงไม่นิยมนำกะเพรามารับประทานเป็นอาหารโดยตรง แต่จะนำไปทำเป็นยารักษาโรค


ซึ่งในอินเดียมีการปลูก 2 พันธุ์คือ กะเพราขาว และกะเพราแดง เช่นเดียวกับในไทย และจะเก็บเกี่ยวหลังผลิดอกครั้งแรกเพื่อให้ได้สรรพคุณทางยาสูงสุด นอกจากนี้ยังปลูกเพื่อความโชคดี ใช้ในศาสนพิธี และใช้บูชาเทพเจ้า


ตำนานหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจของแม่นาง ‘ตุลสี’ผู้นี้ หญิงสาวผู้มีความศรัทธาในรั

กล่าวไว้ว่าเธอเป็นธิดาของกษัตริย์ "ธรรมาธวาจา" (Dharmadhvaja) และมเหสีชื่อ มาธาวี (Madhavi)

ก่อนหน้านี้ท้าวธรรมาธวาจาได้บำเพ็ญตบะทำให้พระแม่ลักษมีพอใจและประทานธิดาให้ ต่อมาพระนางมาธาวีจึงได้ตั้งครรภ์ แต่ใช้เวลาอยู่ถึง 100 ปีกว่าจะถึงกำหนดคลอด!

ครั้นเมื่อถึงเวลาคลอดแล้วกลับไม่ได้ออกมาเป็นทารก กลับเป็นหญิงสาวที่งดงามมาก และได้ชื่อว่า “ตุลสี”(แปลว่า ไร้ที่ติ) เธอมีความรักและศรัทธาในพระนารายณ์เป็นอย่างมาก ตุลสีตัดสินใจละทิ้งทางโลกจึงบำเพ็ญภาวนา บำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลานานอยู่หลายพันปี (ชาวฮินดูเชื่อกันว่าในสมัยโบราณผู้คนจะมีอายุยืนยาวมาก) จุดประสงค์เดียวของเธอคือการขอให้พระนารายณ์รับเธอเป็นชายาของพระองค์!


การบำเพ็ญภาวนาครั้งนั้นไปร้อนถึงพระพรหม พระองค์จึงได้มาปรากฏกายขึ้นต่อหน้าของตุลสี เพื่อให้รางวัลตอบแทนความดีในการบำเพ็ญภาวนาของเธอ เมื่อพรหมเทพได้ทราบจุดประสงค์ของตุลสี พระองค์จึงได้แนะนำให้เธอไปพบกับ “สุธา” หนุ่มเลี้ยงโคผู้ถูกสาปให้เป็นอสูร แต่งงานกับเขา แล้วต่อมาเธอก็จะได้เป็นชายาของพระนารายณ์เอง!

ฟังๆดูก็อาจรู้สึกแปลกๆเพราะการแต่งงานกับอสูรจะทำให้เธอได้กลายเป็นชายาของเทพได้ยังไง? แต่ทุกเรื่องราวนั้นมีเหตุผลเสมอ

แท้ที่จริงแล้วสุธาที่ถูกสาปเป็นอสูรนั้นเป็นร่างอวตารหนึ่งของ “พระกฤษณะ” ซึ่งพระกฤษณะก็เป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์นั่นเอง (เรียกได้ว่าอวตารในอวตารเลยทีเดียว!) การแต่งงานครั้งนี้จึงเป็นเหมือนกับการได้แต่งกับส่วนหนึ่ง(ส่วนเล็กๆ)ของพระนารายณ์นั่นเอง


ในส่วนของ สุธา หนุ่มเลี้ยงวัวที่เป็นอวตารในอวตารพระนารายณ์นั้น ความจริงได้เคยพบกับ ตุลสีมาก่อนแล้ว เขาก็ได้บำเพ็ญภาวนาต่อพระนารายณ์(ร่างหลัก)ว่าขอให้ได้แต่งงานกับตุลสี และขอพรจากพระพรหมว่าเขาจะตายก็ต่อเมื่อ ‘ส่วนหนึ่งของพระนารายณ์ในร่างเขาได้หายไป และภรรยาของเขาได้สูญเสียความบริสุทธิ์’


ครั้นเมื่อโชคชะตาเริ่มทำงาน สุธาถูกสาปให้กลายเป็นอสูรและได้พบกับตุลสี ทั้งสองก็ได้แต่งงานตามที่ได้ขอพรไว้ แต่ด้วยความเป็นอสูรความเลวร้ายเกาะกินจิตใจ ทำให้เขาก่อกรรมทำชั่วเป็นที่เดือดร้อนไปทั่ว จนเหล่าเทวดาต้องหาทางกำจัดเขาเพื่อแก้ไข


เมื่อพระนารายณ์ได้รู้ข่าวก็ได้หารือกับพระศิวะและตกลงกันว่า พระศิวะจะเป็นผู้ไปจัดการสังหารสุธาในร่างอสูร ส่วนพระนารายณ์เขาหาตุลสี แปลงกายเป็นสามีของเธอทำลายพรที่ได้รับเพื่อที่จะสังหารเขาได้

และถึงแม้ว่าตุลสีจะรักและศรัทธาในพระนารายณ์แค่ไหน แต่ด้วยความเป็นภรรยาที่ดีตามแบบฉบับของหญิงฮินดูที่จะมีความซื่อสัตย์ในสามี เมื่อพบว่าเธอได้ถูกพระนารายณ์หลอกลวงเพื่อทำลายชีวิตสามี ตุลสีจึงโกรธมากและได้สาปให้พระองค์กลายเป็นก้อนหิน!

แต่พระนารายณ์ก็ได้พยายามอธิบายให้ตุลสีเข้าใจถึงความจำเป็นในครั้งนี้ ว่านอกจากเป็นการช่วยโลกแล้ว ส่วนหนึ่งนั้นก็เพื่อเป็นการทำลายคำสาปที่สุธาได้รับ และขอให้เธอได้ไปอยู่กับพระองค์ในฐานะของชายาอย่างที่เธอได้ตั้งใจไว้ก่อนหน้านี้

โดยละทิ้งสังขารของมนุษย์ไป ซึ่งส่วนที่เป็นร่างกายของตุลสีนั้นกลายเป็นแม่น้ำกานทากี(Gandaki River) และผมของเธอกลายเป็นต้นกะเพรา หรือต้นตุลสีดังที่รู้จักกั

ชีวิตแต่งงานของตุลสีก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครคิดเพราะด้วยความที่เพิ่งเข้าไปอยู่ใหม่ทำให้มีปัญหากับชายาองค์อื่นของพระนารายณ์ (ว่ากันว่าคือพระแม่สุรัสวตี- บางตำนานกล่าวว่าพระแม่องค์นี้เป็นชายาพระนารายณ์ แต่บางตำนานที่ฮิตๆกันบอกว่าพระแม่องค์นี้เป็นมเหสีของพระพรหม) แต่ตุลสีก็พยายามปรับตัวและอดทนจนถึงที่สุด

เมื่อพระนารายณ์ได้รับรู้ถึงความลำบากของเธอ ด้วยความดีของตุลสีพระองค์จึงได้ยกย่องตุลสีขึ้นเป็น “เทวี” ให้ที่เคารพนับถือเช่นเดียวกับเทพทั้งหลาย ประดับใบกะเพราไว้บนพระเศียร และพระอุระ เป็นที่ระลึกในความดีนั้น ด้วยเหตุนี้ชาวฮินดูจึงนิยมบูชาพระนารายณ์ด้วยใบกะเพรา หรือตุลสีซึ่งเป็นเทวี และพรรณไม้อันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์

The End

อ้างอิง
(1) Legends of Devi by Sukumari Bhattacharji
(2) Puranic encyclopaedia by Vettam Mani
(3) Religious & Useful Plants of Nepal & India by Trilok Chandra Majupuria
(4) http://www.imedpub.com/articles/tulsi--the-wonder-herb-pharmacologicalactivities-of-ocimum-sanctum.pdf
(5)https://www.doctor.or.th/article/detail/5799

.
ขอขอบคุณภาพจาก
http://indianastrology.co.in/3030-tulsi-vivah-23-november-2015-monday/



***การเขียนอะไรสักอย่างนึง ต้องใช้แรงกายแรงใจเยอะมาก ฝากติดตามด้วยน้าาา เราจะได้มีกำลังใจเขียนต่อ...ร่วมพูดคุย และกดไลค์เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนได้ในเพจ

https://www.facebook.com/PanchaliWriter


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม