ยะลา…พาไปเที่ยว Part 1 : ยะลา-จาลี ประวัติศาสตร์ย่อยได้
ฮัลโหลๆ ว่าพรื่อๆ(ว่าไง) เดือนพฤศจิกาที่ผ่านมาในที่สุดเราก็มีโอกาสได้กลับไปเยื่ยม
“ยะลา” ซะที!! เราตั้งใจจะเขียนตั้งนานละ
แต่มีอะไรอยากเล่าเยอะแยะไปหมดจนรวบรวมไม่ถูก เลยดองทุกอย่างมาพักนึง555
จะถือว่าเราเป็นเด็กยะลาเลยก็ได้เพราะเราใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเบบี๋จนถึงมอปลายที่นั่น
มีความทรงจำมากมายที่เมืองเล็กๆแห่งนี้ และที่แน่นอนที่สุด
ก็มีบ้านอยู่ที่นั่นนั่นแหละ หลังจากใช้ชีวิตอยู่บางกอกเมืองหลวงมาทั้งปี
ก็กลับไปชาร์ตแบตที่ยะลาก่อนปีใหม่ซะหน่อย(ปีใหม่ตั๋วมันแพงน่ะนังนู๋)
เลยถือโอกาสพาไปเที่ยวนอกสถานที่กันซะหน่อย จะพาไปใต้สุดสยามเมือง “ยะลา”เลยทีเดียว!!!
ตอนนี้ถ้าพูดถึง 3 จังหวัดฯก็จะมีคนเป็นห่วงถึงเหตุการณ์ไม่สงบเสมอๆ...เอาจริงๆ
เราคงต้องมองมันเป็นภัยธรรมชาติแล้วล่ะ เพราะก็ไม่รู้จะทำยังไง
ไม่มีใครชินหรอกจริงๆ แต่ชีวิตก็ต้องเดินต่อไป
เอาเป็นว่าในฐานะเด็กยะลาจะพาเที่ยวยะลาในสไตล์เราแล้วกัน โนดราม่า เน้นชิวๆอินดี้ๆ^^
ก่อนอื่น อื่นใดๆ
เรามาทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของยะลากันแบบคร่าวๆกันก่อน
อย่างเพิ่งเบื่อกันก่อนนะ เพราะนี่ตั้งใจหาข้อมูลมาย่อยให้โดยเฉพาะเลย พยายามจะเล่าให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด เพื่อที่เวลาเที่ยวจะได้อินขึ้นได้ไม่ยากไง ^^ เอาจริงๆไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องนี้มากนัก(ถ้าไม่ได้ลองสืบดู)
รวมทั้งเราด้วย เราก็เพิ่มมาหาหนังสืออ่าน
แล้วก็ร้องอ๋อกันในตอนโตๆนี้เองจริงๆนะ
อันที่จริง “ยะลา”
มาจากคำว่า “จาลา” (Jala) หรือ “จาลี”(Jali=ชาลี
ในสำเนียงไทยๆ) ในภาษาสันกฤต แปลว่า ตาข่าย หรือแห
(เหมือนในเรื่องพระเวสสันดรชาดก มีพระกัณหา และชาลี นั่นล่ะค่ะแบบเดียวกัน) ไม่ได้มาจากคำว่า “ยะลอ”
อย่างที่เข้าใจกัน ยะลอ ที่ว่านี้เป็นการอ่านคำว่า
ยะลาในแบบภาษาท้องถิ่นซะมากกว่า
เหตุผลที่ตั้งชื่อว่าแห นี่ก็เพราะว่า
บริเวณนี้มีเขาที่มีหน้าตาเหมือนแหอยู่
ย้อนกลับไปก่อนหน้าทุกสิ่งทุกอย่าง..."ยะลา” เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “ปัตตานี”มาก่อน
ซึ่ง ที่ปัตตานีนี้เองคาดว่าเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อาณาจักรหนึ่ง
มีชื่อว่า “อาณาจักรลังกาสุกะ”!
(Poster หนังที่ base on อาณาจักรลังกาสุกะ เรื่อง "ปืนใหญ่ จอมสลัด" หรือ Queen of Langkasuka
ดัดแปลงจากนวนิยาย "บุหงา ปารี" โดย วินทร์ เลียววาริณ)
ทีนี้จะมาเจาะลึกที่อาณาจักร “ลังกาสุกะ” กัน! อาณาจักรแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าคาบสมุทรมลายู
ระหว่างตะวันออก-ตะวันตก
อยู่ท่ามกลางอาณาจักรยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นเช่น โจฬะ เขมร ศรีวิชัย มอญ พม่า ชวา
มีชื่อเสียงมากมายในการค้าขายระหว่างจีน และอินเดีย
เลยพัฒนาจากเมืองท่าชายฝั่งเติบโตกลายเป็น “รัฐ” กินเนื้อที่อาณาเขตกว้างขวางไปจนถึงตอนเหนือของมาเลเซีย!
แรกเริ่มเดิมทีลังกาสุกะได้รับอิทธิพลจากอินเดียอยู่มาก
ไม่ว่าจะพ่อค้าแม่ขาย นักบุกเบิก นักบวช บลาๆ ทำให้มีการนับถือศาสนาฮินดู
รับภาษาและวัฒนธรรมจากที่นั่นมาไม่น้อยกว่า 1400
ปีเลยทีเดียว!
แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงเมื่อ “อาณาจักรศรีวิชัย”
สามารถชนะ “อาณาจักรตามพรลิงค์”(นครวัด) ก็ได้ขยายอาณาเขต+อำนาจ มาถึงลังกาสุกะ
ก็เลยได้เปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาจากฮินดู เป็นศาสนาพุทธ แทน
( ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่ จอมสลัด")
ในระหว่างนี้ราชาของศรีวิชัย
ก็หาที่ที่จะสร้างเมืองหลวงและตำหนัก
ก็เจอหมู่บ้านหนึ่งที่เหมาะมาก มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อ “โต๊ะตานี” (โต๊ะ=ผู้ที่ควรเคารพ) ชาวเมืองเรียกว่า
หมู่บ้าน “เปาะตานี” ก็เลยมีการกร่อนคำกลายเป็น “ปัตตานี”ในที่สุด (เป็นคำมลายู=การทำนา)
ชาวต่างประเทศก็ได้มีการเดินทางมาค้าขายกับปัตตานี
จนโด่งดังเลย มีทั้ง อาหรับ เปอร์เซีย แต่งงานกับคนท้องถิ่นจนสืบเชื้อสายมามากมาย
ศรีวิชัยปกครองลังกาสุกะอยู่ประมาณ 500 ปี ก็มีสงคราม แย่งชิงความเป็นใหญ่กับอาณาจักรไซเลนทร์
รบไปมาก็ตกลงเจอกันตรงกลาง ทำสัญญาสงบศึก แบ่งอาณาจักรกันปกครอง
ปัตตานีก็เลยกลายเป็นเมื่องที่รับวัฒนธรรมที่หลากหลายมากๆอย่างเช่นพระราชามีชื่อเป็นสันสกฤต
แต่พูดภาษามลายู นอกจากนี้ก็ผสมกับภาษาชวาที่รับมาจากอาณาจักรไซเลนทร์
สำหรับการเข้ามาของศาสนาอิสลาม
คาดว่าอันที่จริงก็มีเข้ามานานแล้วโดยพ่อค้าชาวอาหรับ มีการสร้างมัสยิด
และหมู่บ้านมุสลิมมาก่อนบ้างแล้ว
แต่มีจุดเปลี่ยนจริงๆของเมืองก็คือราวๆปี พ.ศ.2000 กษัตริย์ปัตตานี ได้มีการเปลี่ยนศาสนามานับถือเป็นมุสลิม แล้วหลังจากนั้น
ปัตตานีก็ได้ประกาศตัวเป็นรัฐอิสลามอย่างเป็นทางการเลยทีเดียว
เหตุผลในการเปลี่ยนศาสนาของกษัตริย์นั้นมีข้อมูลหลายฉบับ บ้างก็ว่า เปลี่ยนเพราะต้องโอนอ่อนผ่อนตาม
กษัตริย์มะละกา ที่มาแผ่ขยายอำนาจ
บ้างก็ว่ากษัตริย์ปัตตานีได้ป่วยและให้สัญญาไว้ว่าหากหายจากการป่วยนั้น
จะเปลี่ยนศาสนา
ศาสนาอิสลามที่ปัตตานีเป็นที่รุ่งเรืองมาก
กลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการเผยแพร่ความคิดอิสลามไปสู่ภูมิภาคต่างๆ มีคนเดินทางมาเพื่อศึกษาศาสนาที่นี่
ในขณะเดียวกัน คนที่นี่ก็อพยพกระจายตัวไปยังเมืองต่างๆ
จนกระทั่ง พ.ศ.2106
ปัตตานีได้ไปรุกรานกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นก็ผลัดกันรุก
ผลัดกันรับเรื่อยมา จนในที่สุด พ.ศ.2329 ปัตตานีก็อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
และสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ได้มีการ แยกจังหวัดยะลา ออกมาจากเมืองปัตตานี
เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ…
ในเรื่องของสงคราม และประวัติศาสตร์
เราอยากให้มองทุกอย่างด้วยสายตาที่เป็นกลาง
เพื่อที่จะไม่ให้เป็นการตีความทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้วกลายเป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังในปัจจุบันนะ
เราคิดว่าในการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ควรมองอาณาจักรใดๆเป็น “พระเอก” หรือ “ผู้ร้าย”อย่างหนึ่งอย่างใดขนาดนั้น
แน่นอนว่าในโลกภาพยนตร์
หรือละครจำเป็นต้องแต่งเติมเพิ่มสีสันขึ้นบ้างให้คิดในแนวนั้นเพื่อรสชาติของการเสพสื่อบันเทิง
แต่ในธรรมชาติของการขยายอาณาจักร(ในสมัยนั้น)
อาณาจักรที่ใหญ่กว่า และรุ่งเรื่องอำนาจมากกว่ามักจะโหยหาอาณาจักรที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถนำมาเป็นบริวารได้
เพื่อแผ่ขยายอาณาเขตของตนออกไป
ถ้าว่ากันตามห่วงโซ่อาหาร ปลาใหญ่ยอมกินปลาเล็กเสมอ อะไรประมาณนั้น
อาณาจักรที่เคยใหญ่และรุ่งเรือง
วันหนึ่งที่เสื่อมอำนาจมีความขัดแย้ง
ก็สามารถตกอยู่ภายใต้อาณาจักรอื่นที่สบโอกาสดีกว่าได้เสมอ
อาณาจักรที่เล็กๆก็อาจจะขยายอำนาจจนกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ๆเลยก็ได้
เพราะงั้นเราจึงมองว่าเหตุการณ์ทุกอย่างในประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับ ช่วงเวลา
และโอกาส มากกว่าอย่างอื่น เราจึงคิดว่าไม่ว่าในอดีตจะเป็นยังไง
เราควรเรียนรู้มันโดยปราศจากอคติ
ณ พื้นที่แห่งนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย
มีผู้คนมากมายหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนาและภาษา ในฐานะที่เราโตมาในจังหวัดนี้
เรามองว่าแม้เราจะมีความแตกต่างเหล่านั้น แต่ก็สามารถเปิดใจเรียนรู้
ในความเป็นตัวตนของกันและกันได้อย่างปกติสุขมากๆนะ
เพราะเราต่างก็รู้ดีว่าในปัจจุบันนี้ เราก็คือประชาชนคนไทยที่มีชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกันทั้งนั้นเลย
เพราะเราต่างก็มี “บ้าน” หลังเดียวกัน
แม้ว่ามันจะไม่ค่อยสงบเลยก็ตาม
ภายใต้เหตุการณ์ที่น่ากลัวนี้ เราต่างก็มีจุดยึดเหนี่ยวเดียวกันก็คือ “ความรัก” ที่เรามีต่อบ้านของเรา...บ้าน
ยังก็ยังคงเป็นบ้าน เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ
ไม่ว่าเราไปที่ไหนเราก็ยังรู้สึกว่าบ้านหลังนี้คือบ้านอบอุ่นที่สุดเสมอๆ...ต่อให้ที่ที่ปลอดภัยที่สุดจะไม่ใช่ที่นี่ก็ตามที
(ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง "ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก" แสดงโดย ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่
ดัดแปลงจากนวนิยาย "พรมแดน" โดย วสิษฐ เดชกุญชร)
ดัดแปลงจากนวนิยาย "พรมแดน" โดย วสิษฐ เดชกุญชร)
ยะลา…ภาษามลายู
มาที่ประเด็นภาษากันบ้าง….ใครมาที่นี่แน่นอนว่าต้องได้ยินภาษาที่ฟังแล้วอาจไม่เข้าใจบ้างล่ะ หลายคนมักเข้าใจผิดนะว่า
ภาษาที่ชาวไทยมุสลิมท้องถิ่น3 จังหวัดชายแดนใต้พูดกันนั้นเรียกว่า “ภาษาอิสลาม”! ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดนะจ๊ะ...
อิสลาม หรือ มุสลิม ถือเป็นศาสนา
ไม่ใช่ภาษานะ
ส่วนภาษาที่ใช้กันที่นี่จะเรียกว่า “ภาษามลายู”
นะจะบอกให้
ถือว่าชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจำนวนมากที่นี่จะมีความเชี่ยวชาญในหลายภาษาเลยทีเดียว
หลักๆคือ ภาษาไทย มลายู อังกฤษ
และถ้าบางคนได้เรียนศาสนาเพิ่มเติมมาตั้งแต่เด็กๆ(ควบคู่กับเรียนในโรงเรียน)
ก็จะได้ภาษาอาหรับ ไปอีกหนึ่งภาษาด้วยล่ะ
นอกจากนี้ชาวไทยพุทธเองที่ได้ใกล้ชิดและซึมซับวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายมลายู
ก็จะพลอยได้ภาษามลายูไปด้วยนะ
เราเองก็มีญาติหลายคนที่พูดภาษามลายูได้คล่องพอๆกับภาษาไทยเลยล่ะ เพราะงั้น
การเรียนภาษาจึงไม่มีขอบเขต
ไม่มีข้อจำกัดว่าภาษานี้ใครควรรู้หรือไม่ควรรู้ เช่นเดียวกับมิตรภาพที่ไม่มีการแบ่งแยก
ไม่ว่าจะพุทธ อิสลาม หรือศาสนาไหน เราล้วนเป็นพี่น้องร่วมโลก
ที่อาศัยอยู่ภายใต้ท้องฟ้าแผ่นเดียวกันทั้งนั้นเลย
พูดถึงเรื่องภาษาแล้ว เราลองเจาะไปให้เข้าใจเลยดีกว่าว่าภาษามลายูที่ว่านี้
มัยยังไงกันนะ คำว่า “มลายู”
มีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานไว้ว่า อาจเป็นภาษาสันสกฤตเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย
แปลว่า “ผู้ข้ามฟาก” โดยเชื่อกันว่าชาวอินเดียไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะสุมาตรา
สืบเชื้อสายกับเผ่าชากุน(Jakun) จนมีเผ่าพันธุ์ชาวมลายู
แล้วชาวมลายูก็ข้ามฟากจากเกาะสุมาตรามายังฝั่งคาบสมุทรมลายู(แหลมมลายู)
ซึ่งในฝั่งนี้เองก็มีชาวพื้นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ที่เราเรียกว่า ซาไก หรือเงาะป่า
เป็นคนที่อยู่ตามป่าเขา ส่วนถ้าเป็นชาวเล อยู่ตามริมทะเล ก็คือชาวโอรังลาอุต
“ภาษามลายู” (Melayu) หลักๆแล้วมี 2 เวอร์ชั่นคือ
“ภาษามลายูกลาง” เป็นภาษาราชการของประเทศ มาเลเซีย
อินโดนีเซีย บรูไน และ สิงคโปร์
ซึ่งภาษามลายูในเวอร์ชั่นนี้ก็มีชื่อเรียกของแต่ละประเทศเฉพาะๆไป เช่น
มาเลเซียเรียกว่า ภาษาบาฮาซา เกอบังซาอัน Bahasa Kebangsaan อินโดนี เรียก
ภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ เรียกว่า"บาฮาซา มลายู" (Bahasa
Melayu)บาฮาซา คือภาษาที่ยืมสันสกฤตมา อีกทั้ง
เป็นประเทศที่มีหลายวัฒนธรรมนั่นเอง
ส่วน “ภาษามลายูท้องถิ่น”
จะพูดในในโซนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัด ปัตตานี ยะลา
นราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา เช่น อำเภอสะบ้ายอ้ย เทพา นาทวี จะนะ สะเดา
ซึ่งมลายูในเวอร์ชั่นนี้มักถูกเรียกว่า “ภาษาญาวี” หรือ “ภาษามลายูถิ่นปัตตานี” ส่วนมลายูที่ใช้ในบางอำเภอของจังหวัดสตูล
เรียกว่า “มลายูถิ่นสตูล” และ “มลายูถิ่นนครศรีธรรมราช(อำเภอท่าศาลา)”
แรกเริ่มเดิมที “ญาวี”จะหมายถึงคนชวา(Jawi) ที่สื่อสารด้วยภาษามลายู เป็นคำที่ชาวอาหรับตะวันออกกลางใช้เรียก
คนที่อาศัยอยู่ในเกาะสุมาตรา ชวา คาบสมุทรมลายูทั้งหมดว่า ดินแดนญาวี คนญาวี
ภาษายาวี
เพราะชาวชวาถือเป็นกลุ่มแรกๆที่เข้าไปหาความรู้ด้านศาสนาอิสลาม
ก็เลยเป็นที่รู้จักของชาวอาหรับ
แต่ปัจจุบันนี้ถือว่าเข้าใจตรงกันว่า “ญาวี” จะหมายถึง
ตัวอักษรที่คล้ายคลึงกับอักษรอาหรับมีการประยุกต์ตัวอักษรเพิ่มเติม
เพื่อเอามาเขียนภาษามลายู ถือเป็นการได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม เรียกว่า “อักษรญาวี”(Huruf Jawi) จะพูดให้ง่ายคือ คนเชื้อสายมลายู พูดภาษามลายู
เขียนด้วยอักษรยาวี
และนอกจาก อักษรญาวี แล้ว
ยังมีอักษรอีกหนึ่งชนิดที่ใช้เขียนภาษามลายู คือ “อักษรรูมี” คือเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ มีการประยุกต์เพิ่มเติม ให้เข้ากับภาษามลายู
และมีความรู้เพิ่มเติมอีกนิดส์มาเผื่อ โจรสลัดที่เราเรียกๆกันนี้นะ
ก็มาจากภาษามลายู (สลัด salat เป็นภาษามลายูแปลว่าช่องแคบ)
เพราะเขาอยู่กันที่แถวช่องแคบมะละกายังไงล่ะฮ้า
เอาล่ะคิดว่าจบเรื่องราวประวัติศาสตร์และภาษา ที่เราย่อยมาให้ไว้แต่เพียงเท่านี้ ใครสนใจอะไรเพิ่มเติมก็ไปหาอ่านต่อกันได้ในแหล่งอ้างอิงที่จะแนบให้นะจ๊ะ
ในส่วนของพาร์ทต่อไป จะพาไปเข้าเมืองเที่ยวยะลาแบบเต็มอิ่มกันไปเลย...เจอกันที่ยะลา พาร์ทหน้านะ ^^
Cr. ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจาก
- teerapat punsom /
Shutterstock.com
https://travel.kapook.com/view210289.html
- https://www.wikiwand.com/en/Langkasuka
-http://historyofpatani.blogspot.com/2017/09/bahagian-pertama-sejarah-awal-melayu.html
- https://th.wikipedia.org/wiki/ปืนใหญ่จอมสลัด
- http://news.muslimthaipost.com/news/29232
ขอบคุณข้อมูลจาก
- หนังสือ 212 ปี เมืองยะลา
- ปัตตานี: การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต
โดย รศ.ดร. ครองชัย หัตถา
- ชื่อบ้านนามเมืองภาษามลายูในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย
- มลายู-ยาวี
-ความรู้เบื้อต้นภาษามลายู
- https://travel.kapook.com/view210289.html
-https://movie.mthai.com/movie-news/39464.html
***การเขียนอะไรสักอย่างนึง
ต้องใช้แรงกายแรงใจเยอะมาก ฝากติดตามด้วยน้าาา
เราจะได้มีกำลังใจเขียนต่อ...ร่วมพูดคุย
และกดไลค์เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนได้ในเพจ
https://www.facebook.com/PanchaliWriter
https://www.facebook.com/PanchaliWriter
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น